ประวัติความเป็นมาของจังหวัดกระบี่


ประวัติความเป็นมาจังหวัดกระบี่

จังหวัดกระบี่ ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก คือทะเลอันดามัน ติดต่อกับจังหวัดพังงา และสุราษฎร์ธานีทางด้านทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดตรังทางด้านทิศใต้ และติดต่อกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี กับจังหวัดนครศรีธรรมราช ทางด้านตะวันออก

ตัวจังหวัด ตั้งอยู่ระหว่างแนวเทือกเขา ที่สำคัญของภาคใต้ สองแนว คือ แนวเทือกเขาภูเก็ต อยู่ทางทิศตะวันตก แนวเทือกเขานครศรีธรรมราช อยู่ทางทิศตะวันออก เป็นเทือกเขาที่ต่อเนื่องมาจาก เทือกเขาตะนาวศรี พื้นที่ส่วนใหญ่ มีภูเขาหินปูนเป็นลูกโดด ๆ เตี้ย ๆ มีถ้ำหินปูน บ่อน้ำร้อน และแอ่งน้ำ ที่เกิดจากการยุบตัวของแผ่นดิน สลับกับพื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาด ที่ราบเชิงเขาที่ลาดเอียง ไปทางชายฝั่งด้านใต้ และด้านตะวันตก และที่ราบแคบ ๆ แถบชายฝั่ง

พื้นที่ตอนกลาง มีแนวภูเขาที่สำคัญ คือ ภูเขาพนมเบญจา อยู่ในเทือกเขาภูเก็ต วางตัวอยู่ในแนวเหนือ – ใต้ เป็นภูเขาที่มียอดเขาสูงสุด ในแนวเทือกเขาภูเก็ต คือสูง ๑,๔๐๐ เมตร เป็นแนวสันปันน้ำ ด้านตะวันตก ไหลลงสู่อ่าวพังงา ด้านตะวันออก ไหลลงสู่แม่น้ำกระบุรี ด้านทิศเหนือ ไหลลงสู่แม่น้ำตาปี ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี

จังหวัดกระบี่ มีชายฝั่งทะเล ยาวประมาณ ๑๖๐ กิโลเมตร เป็นชายฝั่งทะเลยุบตัว อันเกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลก ใกล้กับแนวแผ่นดิน มีลักษณะเว้าแหว่ง และสูงชัน ต่างกัน บางบริเวณ มีภูเขาติดกับชายฝั่งทะเล เช่น เขากาโรส และมีเกาะอยู่นอกชายฝั่ง อยู่ถึง ๑๓๐ เกาะ ในบรรดาเกาะดังกล่าว มีผู้คนอาศัยอยู่ เพียง ๑๓ เกาะ เกาะที่สำคัญ ได้แก่ เกาะลันตา เกาะจำ เกาะพี – พี เกาะศรีบอยา เกาะไหง ฯลฯ

พื้นที่ชายฝั่งส่วนใหญ่ เป็นป่าชายเลนไหล่ทวีปผืนแคบ ๆ มีหาดทรายอยู่น้อย มีบางบริเวณถูกแรงบีบอัดของเปลือกโลก ทำให้ท้องทะเลเดิม ถูกยกตัวขึ้นมาอยู่บนชายฝั่ง เช่น พื้นที่บริเวณสุสานหอย ๗๕ ล้านปี ที่บ้านแหลมโพธิ ตำบลไสไทย อำเภอเมือง ฯ

เมืองกระบี่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ให้พระปลัดเมือง มาตั้งเพนียดจับช้างที่บ้านปกาไส ต่อมามีผู้คนมากขึ้น ก็ยกฐานะเป็นแขวงเมือง แล้วได้รวบรวมแขวงเมืองต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองกระบี่ แต่เนื่องจากไม่มีรายละเอียดว่า เป็นปลัดท่านใด จึงไม่สามารถกำหนดระยะเวลาลงไปได้ อย่างไรก็ตาม ก็มีการสันนิษฐานว่า การตั้งเพนียดจับช้างที่ปกาไสนั้น น่าจะเกิดปลายสมัยเจ้าพระยานคร (พัด) ซึ่งปกครองเมืองนคร ฯ อยู่ ๒๗ ปี ถึง พ.ศ.๒๓๕๔

ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะแขวงเมืองปกาสัย ขึ้นเป็นเมือง และทรงพระราชทานนามว่า “เมืองกระบี่” โดยให้ตั้งที่ทำการบริหารราชการ อยู่ที่ตำบลกระบี่ใหญ่ (บ้านตลาดเก่า) ในท้องที่อำเภอเมือง ของเมืองนครศรีธรรมราช มีเจ้าเมืองคนแรก ชื่อหลวงเทพเสนา และต่อมา ในปี พ.ศ. 2418 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้แยกเมืองกระบี่ ออกจากการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร

สำหรับการตั้งเมืองนั้น เมื่อ พ.ศ. 2433 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอ ซิบบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาล ประสงค์จะให้เมืองอยู่ใกล้กับท่าเรือ สามารถติดต่อกับต่างประเทศได้สะดวก จึงได้ย้ายศาลากลางจากตลาดเก่ามาตั้ง ณ ที่ตั้งปัจจุบัน

ต่อมาปี พ.ศ. 2475 ศาลากลางหลังเก่าทรุดโทรมมาก จึงได้ตั้งขึ้นใหม่ ณ ริมแม่น้ำกระบี่ ตำบลปากน้ำ ตรงข้ามที่ดั้งเดิม ไปทางทิศตะวันออก

ปัจจุบันนี้ เมืองเจริญขึ้น ศาลากลางหลังเก่าคับแคบ และทรุดโทรม จึงได้สร้างอาคารศาลากลางหลังใหม่ขึ้น หันหน้าไปทางพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2510 ความหมายของคำว่า “กระบี่” มีตำนานเล่าลือกันมาว่า ชาวบ้านได้ขุดพบมีดดาบเล่มหนึ่ง ได้นำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่ ต่อมาไม่นาน ก็ขุดพบมีดดาษเล็ก อีกเล่มหนึ่ง รูปร่างคล้ายกับมีดดาบเล่มใหญ่ และได้นำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่ เช่นกัน เจ้าเมืองเห็นว่า ควรเก็บไว้เป็นดาบคู่บ้านคู่เมือง เพื่อเป็นสิริมงคล

แต่เนื่องจากขณะนั้น ยังสร้างเมืองไม่เสร็จ จึงได้นำดาบไปเก็บไว้ในถ้ำ เขาขนาบน้ำ หน้าเมือง โดยวางไขว้กัน ลักษณะการวาง จึงกลายเป็นตราสัญลักษณ์ ประจำจังหวัดกระบี่ ในปัจจุบันยังมีการสันนิษฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับที่มาของชื่อ “กระบี่” ในความหมายที่แปลว่า “ลิง” ว่า เมืองกระบี่ก่อนแขวงเมืองปกาสัย เป็นที่ตั้งของเมือง “บันไทยสมอ” ซึ่งเป็นเมืองในสิบสองนักษัตร ขึ้นตรงต่อเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองบันไทยสมอ ใช้ตราลิงเป็นตราประจำเมือง โดยถือเอาความหมายแห่งเมืองหน้าด่านปราการ เพราะลิงในสมัยก่อน ถือว่ามีความองอาจกล้าหาญ เทียบเท่าทหารกองหน้า เช่น บรรดาลิงแห่งกองทัพพระราม และในสภาพความเป็นจริง คนเฒ่า คนแก่ของเมืองกระบี่ เล่าว่า ในสมัยก่อนมีลิงอยู่เป็นจำนวนมาก

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยที่ดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ได้เสด็จประพาสเมืองกระบี่ สมัยพระแก้วโกรพ (หมี ณ ถลาง) เป็นเจ้าเมือง ดังความปรากฏ ในจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๓๕๒) พระองค์เสด็จโดยเรือถลาง ผ่านภูเก็ต พังงา มาถึงปากน้ำกระบี่ ทางเมืองกระบี่ ได้จัดขบวนเรือยาว เรือพาย เป็นขบวนต้อนรับ เรือเข้าจอดท่าสะพานเจ้าฟ้า พระองค์ได้เสด็จทอดพระเนตรสถานที่ราชการ ทอดพระเนตรถ้ำหนองกก ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าถ้ำเสด็จ ทอดพระเนตรการชนควาย มวยมลายู หนังตะลุง มโนราห์ และมะยง (มะโย่ง) วันรุ่งขึ้น เรือออกจากเมืองกระบี่ ผ่านเกาะลันตา แหลมกรวด ทอดพระเนตรการงมหอยนางรม วันต่อมาเสด็จเกาะลันตา

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา มีกองทหารญี่ปุ่น เข้ามาตั้งอยู่ในเมืองกระบี่ ๒ แห่ง คือที่บริเวณบ้านทุ่งแดง และบริเวณบ้านคลองหิน ใช้อาคารโรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล เป็นที่ตั้งกองบัญชาการ หน่วยต่อต้านญี่ปุ่นในจังหวัดกระบี่ ได้ประสานงานกับเสรีไทย ผลักดันให้ญี่ปุ่นถอนทหารออกไป เรือกลไฟชื่อถ่องโห ซึ่งเดิมเป็นเรือสินค้า วิ่งขนส่งสินค้าระหว่าง ภูเก็ต – กระบี่ – ตรัง – ปีนัง ทหารญี่ปุ่น ยึดเอาไปใช้ขนส่งทหาร และสัมภาระ ได้ถูกตอร์ปิโด จากเรือดำน้ำ ฝ่ายสัมพันธมิตร ยิงจมที่บริเวณเกาะหัวขวาน บริเวณทะเลกระบี่ ซากเรือยังจมอยู่ใต้น้ำ มาจนถึงทุกวันนี้ ในช่วงเวลาสงคราม และหลังสงคราม ชาวกระบี่ขัดสน แร้นแค้นมากกว่าเมืองอื่น ๆ ถึงสองเท่า เพราะกระบี่ในสมัยนั้น มีความทุรกันดาร เป็นปกติอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการคมนาคมทางบก ติดต่อกับจังหวัดอื่น ๆ คงมีแต่เฉพาะทางเรือ ที่ติดต่อกับจังหวัด ภูเก็ต พังงา ระนอง ย่างกุ้ง ปีนัง สิงคโปร์

กระบี่เป็นเมืองช้างมาแต่โบราณ การตั้งเมืองขึ้น ก็เนื่องมาจากการตั้งพะเนียดจับช้าง ของปลัดเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ ชาวบ้านได้คล้องช้าง ที่บ้านป่าหนองเตา ตำบลลำทับ ปัจจุบันคือบ้านป่างาม ตำบลดินอุดม คล้องช้างได้ ๖ เชือก มีช้างเผือกรวมอยู่ด้วย ๑ เชือก เป็นเพศผู้ อายุประมาณ ๔ ปี ให้ชื่อว่าพลายแก้ว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ทางจังหวัดได้แจ้งไปทางองค์การสวนสัตว์ข อน้อมเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้รับการสมโภชน์ขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้นามว่า พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวนาถบารมี ฯ เป็นช้างเผือกโท




Leave a comment